รู้จักพุทธวัชรยาน (2)

รู้จักพุทธวัชรยาน (2)

ก่อนเราจะทำความรู้จักมรรควิถีตันตระและซกเช็น มีบางประเด็นเกี่ยวกับวิถีพระสูตรสำหรับนักบวชซึ่งได้กลายเป็นข้อสงสัยสำหรับผู้คนมากมาย หลายคนถามว่า ลามะทิเบตแต่งงานได้หรือไม่

คำว่า ลามะ ในคำถามนี้ไม่ได้หมายถึงพระอาจารย์ซึ่งเป็นความหมายที่แท้ของศัพท์นี้ แต่หมายถึงพระภิกษุธรรมดาซี่งชาวทิเบตจะไม่เรียกว่าลามะ คนไทยเรามักจะเรียกกันผิดเสมอ แม้จะได้รับคำอธิบาย ก็ยืนยันจะเรียกพระทิเบตทุกรูปว่าลามะ อาจเป็นเพราะทำให้เราแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างพระทิเบตกับพระไทยได้อย่างชัดเจน

คำตอบคือ พระทิเบตแต่งงานไม่ได้ ท่านถือศีลปาฏิโมกข์ 250 ข้อ (ของไทย 227 ข้อ) ซึ่งข้อสำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือการถือพรหมจรรย์ อย่างไรก็ตาม วิถีการปฏิบัติและสืบพระธรรมของทิเบตมีความซับซ้อน พระอาจารย์โดยเฉพาะในสายยุงตรุงเพิน (พุทธเพิน) และสายญิงมาปะ หากสืบสายการปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ในอดีตที่เป็นโยคีโดยเฉพาะผู้เป็นเตรเตินปะ (พระอาจารย์ที่ค้นพบธรรมสมบัติเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์) สามารถมีครอบครัวได้ โดยปกติท่านเหล่านั้นมักจะนุ่งสบงและ/หรือครองจีวรแบบโยคี ด้วยผ้าขาว ไว้ผมยาว หรือนุ่งสบงสีขาว ครองจีวรสีแดง ซึ่งทำให้ท่านดูต่างจากพระภิกษุโดยทั่วไป และในโลกสมัยใหม่นี้ ท่านอาจแต่งตัวเหมือนบุคคลทั่วไปในสังคม

เนื่องจากท่านเหล่านั้นมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลวัดและปกครองลูกศิษย์ซึ่งเป็นพระธรรมดา ในปัจจุบัน เราจึงเห็นหลายท่านโกนผมและแต่งกายเหมือนพระภิกษุ แต่ขอให้รู้ว่าท่านไม่ได้กำลังผิดศีล แต่จริงๆ แล้ว ท่านเป็นโยคี เพียงแต่ลักษณะภายนอกท่านอาจดูเหมือนนักบวชทั่วไป ซึ่งประเด็นนี้พระอาจารย์ในนิกายที่ถือเพศบรรพชิตเป็นหลักก็มีวิพากย์วิจารณ์บ้าง อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ที่อยู่ในเพศบรรพชิตที่แอบมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าผิดศีลปาราชิกเช่นเดียวกับฝ่ายไทยหากมีการจับได้

ประมุขของนิกายสาเกียปะ สมเด็จพระสังฆราชสาเกีย ทริซิน ตามประเพณีจะไม่ได้เป็นพระภิกษุ แต่เป็นโยคี ท่านอยู่ในลักษณะครองเรือน บุตรของท่านซึ่งเป็นโยคีเช่นเดียวกันมีหน้าที่ในการปกครองวัดและสืบทอดพระธรรม แต่พระภิกษุอื่นๆ ทั้งหมดในนิกายนี้ล้วนแต่ถือศีลปาฏิโมกข์ (และยังมีการถือศีลโพธิสัตว์รวมทั้งศีลตันตระด้วย) ซึ่งประเพณีได้มีการสืบต่อกันมาตั้งแต่กำเนิดนิกายสาเกียปะขึ้นในปี ค.ศ. 1073 โดยท่านเคิน โกนชก เกียลโป

พระทิเบตยังมีลักษณะสำคัญต่างจากพระไทยตรงที่ท่านเหล่านั้นมักจะตั้งปณิธานบวชตลอดชีวิต ทางวัดจึงไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนระยะสั้นๆ หรือบวชเพื่อแก้บน ทำบุญให้ผู้ล่วงลับ ฯลฯ ในระดับพระอาจารย์ หากมีความจำเป็นต้องลาสิกขา เช่น ท่านเชียมเกียม ทรุงปะ ริมโปเช ซึ่งเป็นลามะชั้นสูงแห่งวัดเซอร์มังในแคว้นคามแห่งทิเบตตะวันออก ลูกศิษย์ก็จะไม่วิพากย์วิจารณ์ท่าน ยังคงเคารพรักท่านเหมือนเดิม เพราะคำว่า ลามะ อันหมายถึง มารดาผู้เหนือกว่ามารดาใดๆ (supreme mother) ไม่ได้ขึ้นกับการแต่งกายและรูปแบบภายนอก แต่เป็นตำแหน่งที่สืบทอดกันมาหลายภพหลายชาติ พวกเขาจะคิดเสมอว่า คุรุกับศิษย์ผูกพันกันจนถึงการตรัสรู้

อีกลักษณะหนึ่งที่เราจะเห็นจากพระทิเบตซึ่งทำให้คนไทยเราไม่เข้าใจ เช่น การที่ท่านจับมือผู้หญิงได้ หรือรับของจากมือผู้หญิงได้โดยตรง ท่านฉันอาหารมือเย็นได้ จริงๆ หากปฏิบัติตามศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จะทำไม่ได้ แต่สมเด็จองค์ดาไลลามะก็ได้ตรัสว่า ศีลก็ต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน การที่พระทิเบตจับมือผู้หญิงก็ไม่ได้ต่างจากการจับมือผู้ชาย เพราะทั้งชายและหญิงก็ล้วนแต่เป็นสัตว์โลก การจับมือต้องเป็นไปด้วยความปรานีดุจดังพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์โลก เราอย่าลืมว่าท่านถือศีลโพธิสัตว์ซึ่งเน้นการปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกัน และในฝ่ายตันตระเองก็มีการกำหนดการมองสัตว์โลก ว่าทุกชีวิตคือสภาวะศักดิ์สิทธิ์ ต่างมีจิตพุทธะภายใน นั่นคือ มีศักยภาพในการหลุดพ้น

ส่วนในเรื่องอาหารเย็นก็เช่นกัน ในทิเบตที่มีอากาศหนาวเย็นและอาหารมีน้อยอยู่แล้ว การรับประทานอาหารเย็นไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรมวินัย แต่การรับประทานนั้นก็ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลิน แต่เป็นการบำรุงกายเนื้ออันประเสริฐเพื่อให้กายนี้ได้รับใช้สรรพสัตว์และได้เป็นพาหนะสำหรับการพัฒนาจิตจนเข้าถึงการรู้แจ้ง รูปแบบการปฏิบัติธรรมบางอย่าง เช่น การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ เน้นพละกำลังเพื่อให้เราได้ใช้กายเนื้อเพื่อการภาวนาให้มากที่สุด กายเนื้อนี้จึงต้องการอาหารที่พอเพียง แต่ก็มีการปฏิบัติสมาธิที่เน้นการไม่รับประทานอาหาร (ต้องได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากคุรุอาจารย์) ในระหว่างไม่ทานอาหารซึ่งอาจเป็น 1 วัน ไปจนถึง 7 วัน เราจะอยู่กับพลังจากจักรวาล อยู่กับพลังมนตราที่เป็นอาหารชั้นเยี่ยมของร่างกาย

ในตอนที่ผู้เขียนไปกราบอัษฎางคประดิษฐ์ในทิเบต พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช ลามะในนิกายสาเกียปะ ได้มาเยี่ยม พร้อมกับต้มเนื้อจามรีและนำนมเนยมาให้ผู้เขียน เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตด้วยพระอาจารย์ท่านฉันมังสวิรัติ แต่ท่านต้มเนื้อจามรีมาให้ แล้วบอกว่า ขอให้รับประทานอาหารให้ดีที่สุด เพื่อให้กายนี้แข็งแรง มีกำลัง จะได้กราบได้มาก จะได้ลุล่วงเป้าหมายของการจาริกแสวงบุญ

พูดถึงอาหารมังสวิรัติ ผู้ปฏิบัติธรรมทิเบตส่วนใหญ่ต่างจากพระจีนและผู้นับถือพระแม่กวนอิมที่ไม่รับประทานเนื้อวัว พวกเขามักไม่ได้ละเว้นการกินเนื้อ แต่มักจะหลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเล ด้วยเชื่อว่า ชีวิตเล็กๆ ของสัตว์ทะเลไม่สามารถทำให้เราอิ่มท้องได้ ทำให้ต้องเบียดเบียนสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่สัตว์ใหญ่อย่างจามรี หนึ่งตัวเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน

การกล่าวว่าต้องมีการปรับปรุงศีลให้เหมาะกับยุคสมัยหรือสภาพแวดล้อม ไม่ได้แปลว่านักบวชจะทำอะไรก็ได้ ศีลข้อไหนอยากเก็บไว้ก็เก็บ ข้อไหนทำไม่ได้หรือไม่ต้องการก็ละทิ้งไป ผู้เป็นพระอาจารย์จึงมีหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่จะดูแลและกำหนดพฤติกรรมของศิษย์ วัดทิเบตจำนวนมากมีพระลูกศิษย์ถึง 300-400 รูป จึงเป็นสิ่งท้าทายที่จะให้ทุกคนได้ปฏิบัติภายใต้พระธรรมวินัย และโดยเฉพาะเมื่อพระส่วนใหญ่มาบวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ปกติตามวัดจะมี เกกู หรือพระผู้คุมกฎคอยดูแลสอดส่องความเป็นไปของพระลูกวัด ดังเช่นที่เราเห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Cup

มรรควิถีตันตระ (Transformation Way)

ตันตระเป็นชื่อคัมภีร์อีกชุดหนึ่งซึ่งเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ถ่ายทอดแต่ถ่ายทอดในลักษณะพิเศษระหว่างคุรุกับศิษย์ ไม่ได้ทำในที่สาธารณะ สำหรับนิกายยุงตรุงเพิน พระพุทธเจ้าองค์ผู้ถ่ายทอดอยู่ในลักษณะสัมโภคกาย ทรงไม่ได้ถ่ายทอดทางวาจา แต่ทางกระแสแห่งพร เรียกว่า โกงปา ถ่ายทอดมาเป็นลำดับขั้นจนถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นมนุษย์ แล้วท่านสอนทางวาจาจนเราได้รับคำสอนนี้อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยคัมภีร์นี้ได้มีการรจนาเป็นลายลักษณ์อักษรและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของคัมภีร์ จะขอพูดถึงลักษณะการมองโลกของผู้ปฏิบัติตันตระก่อน

มรรควิถีนี้มีปรัชญาเพื่อการเปลี่ยนโลก เราจะไม่วิ่งหนีกิเลส ไม่ดูดายกับความเป็นไปของโลก แต่มุ่งเน้นเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ให้รื่นรมย์ขึ้น เปลี่ยนจากความไม่บริสุทธิ์แห่งกิเลสห้าให้เป็นความบริสุทธิ์แห่งปัญญาห้า เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความรัก เปลี่ยนความอิจฉาริษยาให้เป็นมุทิตา เปลี่ยนโลกที่เราอยู่ไม่ว่าจะน่าเกลียดน่ากลัวเพียงไร ให้เป็นพุทธเกษตร สวรรค์อันผ่องแผ้วของพระพุทธเจ้า มรรควิถีนี้จึงเน้นการมองโลกอย่างไม่ผลักไส สังสารวัฏกับนิพพานไม่แยกจากกัน ดุจดังหน้ากลองดามารุที่มีสองหน้าเพื่อสื่อถึงความจริงสองด้าน ต่างจากมรรควิถีพระสูตรซึ่งเน้นการมองว่าทุกสิ่งคือภาพลวงและการละความจริงระดับสมมุติไปสู่ความจริงในระดับสูงสุด

(ยังมีต่อ)

กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล

 

รู้จักพุทธวัชรยาน (1)

 

 

photo-97

รู้จักพุทธวัชรยาน

ในพุทธทิเบตที่เราเรียกว่า “พุทธวัชรยาน” ไม่ได้ประกอบด้วยหนทางการปฏิบัติธรรมเดียว มีหลายวิธีการและหลายมรรควิถีในยานใหญ่นี้ ซึ่งแม้จะมีพื้นฐานอุดมคติเดียวกัน นั่นคือ การเข้าถึงโพธิญาณเพื่อกลับมายังประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ แต่รูปแบบและการมองโลกอันนำไปสู่การอุทิศตนเพื่อสัตว์โลกแตกต่างกัน

วิถีแห่งการละโลก (Renunciation Way)

ผู้ดำรงอยู่บนหนทางของการละโลก ดังเช่นนักบวชมุ่งเน้นขัดเกลาจิตใจให้ผ่องแผ้ว ละวางจากเรือนและการงาน ทุ่มเทชีวิตเพื่อค้นหาสัจธรรมและทำงานทางธรรม โดยในทิเบตเน้นการศึกษาพระสูตร พุทธปรัชญา โต้วาทีธรรม สร้างเครื่องรองรับกาย วาจา ใจของพระพุทธเจ้า (หล่อพระ ชำระคัมภีร์ สร้างวิหาร สถูปเจดีย์) และจำศีลภาวนา จนได้รับการสลายบาปกรรมและจิตเกิดปัญญารู้ธรรม

ดังเช่นโอวาทของพระอาจารย์ซูเชน ริมโปเชที่ให้แก่พระภิกษุที่วัดของท่านว่า

“ท่านทั้งหลายมาบวชในวัดขอให้จำใส่ใจว่ามีเพียงจุดหมายหลักสองประการ คือเพื่อขัดเกลาตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้มีเวลาและความเพียรในการทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อการปฏิบัติธรรม และเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระพุทธธรรมจนสามารถสืบพระวจนะของพระพุทธองค์ไปยังผู้คนในสังคมและในรุ่นอายุต่อไป หากมีเป้าหมายอื่นที่นอกเหนือจากนี้ ก็ขอให้ทราบว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายของวัด”

พระในวัดจึงได้รับการสอนให้ศึกษาพระสูตร พระอรรถกถา และวิชาความรู้อันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของทิเบต เรียกว่า ศาสตร์ใหญ่ห้า ได้แก่ หัตถศิลป์ (รวมการหล่อพระ ทำงานพุทธศิลป์) ศาสตร์แห่งการบำบัดรักษา (การแพทย์) ภาษาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และพุทธศาสตร์

แม้ว่าในหมู่พระภิกษุผู้มีสติปัญญาดีและมีความตั้งใจที่จะทำประโยชน์แก่สรรพสัตว์ได้อย่างรวดเร็วจะมีโอกาสได้รับคำสอนเพิ่มเติมในสายตันตระและ/หรือซกเช็นซึ่งเน้นการมองโลกในอีกลักษณะและเน้นการทำสมาธิในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การรู้แจ้งที่รวดเร็วขึ้นเพื่อให้ได้ทำประโยชน์แก่สัตว์โลกได้เร็วขึ้น พระภิกษุโดยทั่วไปใช้เวลาส่วนใหญ่กับการศึกษาพระสูตรเป็นสำคัญ

พระภิกษุมีศีลที่กำหนดรูปแบบพฤติกรรมและการตั้งจิต จำนวนศีลมีตั้งแต่ 25 ข้อ (สำหรับสามเณร) ไปจนถึง 250 ข้อ อย่างไรก็ตาม พระภิกษุของทิเบตส่วนใหญ่ยังถือศีลมากกว่านี้ ได้แก่ ศีลโพธิสัตว์ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นพุทธมหายานและศีลตันตระซึ่งเน้นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์อีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า คัมภีร์ตันตระ

หลังพระอาจารย์อตีศะ Atisha (ค.ศ. 980-1054) เข้ามาในทิเบต ท่านได้สังคายนาพระธรรมวินัย ได้สร้างระบบการปฏิบัติเพื่อเน้นวิถีของพระสูตรให้เข้มแข้ง ก่อนหน้านั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทิเบตเป็นโยคีและโยคินีเป็นหลัก วิถีนี้ได้รับการสืบต่อและมีความรุ่งเรืองอย่างมาในสมัยพระอาจารย์ซงคาปา Tsongkhapa (ค.ศ. 1357-1419) จนกลายมาเป็นนิกายเกลุกปา ซึ่งได้กลายมามีอำนาจทางการเมืองในสังคมพุทธทิเบต

หากดูตามเป้าหมายของสายการปฏิบัติแห่งการละโลก ผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกให้ปล่อยวางจากกระแสโลก มิได้เพื่อให้เห็นแก่ตัว ให้ดูดายต่อความทุกข์ยากของผู้คนในสังคม แต่เพื่อให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อการหลุดพ้นอันจะนำมาสู่การช่วยเหลือสรรพสัตว์ในหลายภพหลายชาติและได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า นักบวชจะเอาแต่โต้วาทีธรรม หรือสวดมนต์ทำสมาธิ ในยามที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เช่น เกิดภัยพิบัติ เรากลับเห็นเหล่านักบวชทั้งหญิงและชายผนึกกำลังกัน ออกมาเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยบำบัดความทุกข์ของผู้คน และในสังคมทิเบตเอง เราก็เห็นพระออกมาประท้วง แม้แต่จนเผาตัวเองตาย

เราได้พูดถึงพระภิกษุ แต่ไม่ได้พูดถึงภิกษุณีและสามเณรีซึ่งในทิเบตยังขาดความเข้มแข็ง เพราะโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ปฏิบัติธรรรมด้วยการเกื้อกูลจากสถาบันหรือองค์กรมีน้อยมาก นักบวชต้องสร้างเรือนภาวนาเอง ต้องหาอาหารรับประทานเอง (ไม่มีระบบการออกบิณฑบาตรเหมือนในไทย) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เริ่มมีการสร้างสถานปฏิบัติธรรมของผู้หญิงมากขึ้น วันหนึ่ง เราคงเห็นนักบวชหญิงได้โต้วาทีธรรมและศึกษาพระธรรมอย่างเต็มที่ดังเช่น โอกาสที่นักบวชชายได้รับ

ยังมีมรรควิถีตันตระและซกเช็น (อื่นๆ) ซึ่งหล่อหลอมความเป็นพุทธทิเบตเอาไว้ หากใครปรารถนาจะเข้าใจทิเบต จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเพิกเฉยต่อการศึกษามรรควิถีเหล่านี้ และในสายทิเบตไม่ได้เน้นว่าเฉพาะผู้ออกบวชเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและสามารถเข้าถึงการรู้แจ้ง

กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล

To the Heart of Kham – Derge Sutra Printing House

IMG_4672

 

The highlight of our pilgrimage is at Derge, a Khampa town which has historical significance.

การเดินทาง 8 วัน 7 คืน (28 กค – 4 สค 56) เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เต็มอิ่มด้วยประสบการณ์ เราเดินทางผ่านเมือง สายน้ำ ข้ามเขานับพันกิโลจนถึงนครแห่งนี้ซึ่งมีชื่อว่า “เดรเก” อยู่ในหุบเขาที่มีความสูง 3220 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

IMG_4679

นี่คืออดีตอาณาจักรยิ่งใหญ่ สำหรับชาวทิเบต การเดินทางมาเดรเกมีความสำคัญเพราะที่นี่เทียบเท่ากับหัวใจของแคว้นคามที่เต็มไปด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม และความศักดิ์สิทธิ์ของโรงพิมพ์พระไตรปิฎก

เราถึงเดรเกในเวลาค่ำคืนหลังผจญภัยและรอลุ้นเรื่องถนนขาด เช้าวันรุ่งขึ้น เราพบกันตอนสายๆ ทุกคนดูสดชื่นขึ้นแต่ยังไม่รู้ว่าวันนี้จะได้พบอะไร แต่ได้ข่าวดีว่าเราจะค้างที่เดรเกอีกคืน หลังอาหารเช้า เราเดินไปโรงพิมพ์พระไตรปิฎกกัน ภาพของโรงพิมพ์ที่เป็นอาคารโบราณสีแดงยังตระหง่านในความทรงจำ ความเหน็ดเหนื่อยดูมลายไปหมดเมื่อเห็นผู้คนแต่งกายด้วยชุดท้องถิ่นเดินเวียนเทียนรอบโรงพิมพ์

 

IMG_4708

ช่วงเช้าเราสักการะวิหารซึ่งมีองค์พระประธานเป็นพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี และวิหารพระธรรมบาล ตอนกลางวันเดินไปเยือนวัดใหญ่เดรเก (เดรเก กอนเช็น) ที่งดงามตามประเพณีของนิกายสาเกียปะ ตอนบ่ายกลับมาโรงพิมพ์เพื่อชมวิธีการพิมพ์คัมภีร์โบราณ ซึ่งไม่ใช่งานแต่คือการภาวนาอันเปี่ยมศรัทธา

 

IMG_4683

ก่อนจากโรงพิมพ์ เราสักการะวิหารตาราบนดาดฟ้า และรูปเคารพของพระองค์ซึ่งเชื่อว่าปรากฏขึ้นเอง เจ้านครเดรเก ท่านธรรมราชาเต็มปา เซริง มีศรัทธาในพระองค์อย่างมาก ครั้งหนึ่งเกิดไฟใหม้ในโรงพิมพ์ พระแม่ตาราตรัสบอกพระผู้ดูแล อีกครั้งหนึ่งทรงบอกเจ้านครว่า โรงพิมพ์แห่งนี้ไม่ต้อนรับโจรขโมย แต่ต้อนรับทุกชีวิตที่มีศรัทธาไม่ว่าหญิงหรือชาย หลังจากนั้น โรงพิมพ์จึงได้กลายเป็นสถานภาวนาของทุกคนที่ปรารถนาจะปฏิบัติธรรม ก่อนหน้านั้นมีเพียงพระภิกษุและอุบาสกเท่านั้นที่จะได้สักการะโรงพิมพ์

IMG_4692

 

โรงพิมพ์แห่งนี้สร้างในปีค.ศ. 1729 ได้พิมพ์คัมภีร์พระไตรปืฎกและอรรถกถาของทุกนิกาย ได้แก่ ยุงตรุงเพิน (พุทธเพิน) ญิงมาปะ กาจูร์ปะ สาเกียปะ เกลุกปะ รวมทั้งโจนังปะ มาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

Talk on Tibetan Wisdom & Modern World at Mahidol University

8 มกราคม 2556

บรรยายเรื่อง “ภูมิปัญญาบรรพกาลกับจิตวิญญาณร่วมสมัย : พุทธทิเบต

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

Kris and Aj

photo-5

ให้การเรียนรู้เป็นกระบวนการ เป็นโอกาส นำเราไปสู่ปัญญาภายใน อย่าเพียงยินดีกับสิ่งที่เป็นความรู้ภายนอก ความรู้ฉาบฉวย แต่นำสิ่งที่ได้ฟัง อ่าน ดู มาใคร่ครวญ มาภาวนาจนความรู้กลายเป็นประสบการณ์ชีวิต หมั่นทำจิตให้นิ่ง ใส เพราะภายในความสงบนิ่งเท่านั้นที่ความรู้ตกผลึกและประสบการณ์แปรเปลี่ยนเป็นปัญญา อันจะนำเราไปสู่ขุมทรัพย์ใต้ท้องมหาสมุทรซึ่งมีอยู่แล้วในจิตของเราเอง นำเราไปสู่ความเบิกบาน ความกรุณาและคุณสมบัติอันประเสริฐมากมาย ความรู้ที่ขาดการภาวนาอาจทำให้เราเป็นนักวิชาการ เป็นบัณฑิตผู้ได้รับปริญญา แต่ไม่ทำให้เราเป็นปราชญ์ผู้รู้จักจิตใจและตัวตนของตัวเอง

photo-3

ที่ระลึกจากการบรรยายที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา 8 มกราคม 2556

Praise to the Great Stupa

บทตั้งปณิธานและบูชาอานิสงส์ของการสร้าง “พระศานติตารามหาสถูป”

พระอาจารย์และเทพ
ผู้สืบสายธารแห่งธรรมจากตรีกายของพระพุทธเจ้า
พระตถาคต เทพปางสันติ เทพปางพิโรธ ทั้งนอก ใน และลึกล้ำ

เหล่าธรรมบาล ผู้มุ่งมั่นปกป้องพระสูตร พระธรรมเตรมา และพระกรณียกิจทั้งสี่อยู่เป็นนิจ ข้าพเจ้าขอประณตน้อมแด่พระองค์ทั้งหลาย ด้วยการบูชาพระสถูปตราบจนถึงการตรัสรู้

ในเวลานี้ เพื่อให้สัตว์ผู้ท่องไปในสังสารวัฏทั้งหกภพภูมิได้สั่งสมบุญบารมี จึงตั้งปณิธานจะประดิษฐานพระสถูปตามแบบ “ยุงตรุง เกอเลก เชอแตง” สถูปอันสรรค์สร้างไว้อย่างวิจิตรดังปาฏิหาริย์

พระสถูปมีคุณลักษณะดังนี้…
พระสถูปอันเป็นธรรมกาย
สิ่งแทนพระหทัยของพระพุทธเจ้า
คัมภีร์อันเป็นสัมโภคกาย
สิ่งแทนพระวจนะของพระพุทธเจ้า
พระพุทธรูปอันเป็นนิรมาณกาย
สิ่งแทนตรีกายของพระพุทธเจ้า
รูปพระอาจารย์ ยีตัม ฑากินี
สิ่งแทนมนตร์ธารณี
รูปพระตถาคตทั้งสี่
สิ่งแทนพระพุทธเจ้าหนึ่งพันพระองค์
รูปพระเทรมปา นัมคา พระเซวัง รินซิน พระคุรุปัทมสมภวะ
สิ่งแทนความกตัญญูยิ่งใหญ่ต่อพระธรรมและสัตว์ทั้งหลาย
รูปพระกุนเทรอ ทรักปา
สิ่งแทนการเผยแผ่พระธรรมให้ขจรไกล
รูปพระศรีเทวี เชนเจ ผู้ให้คำสัตย์ปฏิญาณ
สิ่งแทนผู้ปกป้องคำสอนและสัตว์ทั้งปวง
พระสถูปคือเทพปางสันติประทับอยู่ในความไพศาล
คือพระรูปส่องสว่างอยู่กลางอากาศ
ด้วยพุทธานุภาพ ขอสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงจงมลายสิ้นไป
เหล่าเทพปางพิโรธพิชิตผู้ยากจะปราบได้โดยมิหยุดหย่อน
ขอมารยักษิณีไม่เว้นแม้แต่หนึ่งเดียวกลับใจสู่บุญกุศล
ขออกุศลนานัปการของมารทั้งสามกาลจงแปรเปลี่ยนไป
ขอความชั่วร้ายในโลกนี้จงสิ้่นสูญ
ขอศานติสุขจงบังเกิดขึ้นในโลกไม่ว่าแห่งหนตำบลใด
ขอให้บังเกิดความเห็นแจ้งว่า ปรากฏการณ์และสิ่งดำรงอยู่คือศูนยตาอันไพศาล ขอพระธรรมจงดำรงมั่นและขจรไกลไปทั่วสากลจักรวาล
ขอพระธรรมทั้งสามมรรควิถีจงเผยแผ่ชั่วกาลนานมิมีวันเสื่อมสลาย ขอบุญบารมีทั้งสองอันอุดมยังประโยชน์ทั้งส่วนตนและผู้อื่นด้วยเทอญ

พระอาจารย์กุนเทรอ เมินเกียล ลาเซ ซกญี เกียมโซ รจนาเพื่อประโยชน์ของพระธรรมและสัตว์โลก ในระหว่างการดำเนินงานเพื่อประดิษฐานพระศานติตารามหาสถูป ณ ขทิรวัน ศูนย์ปฏิบัติธรรมของมูลนิธิพันดารา ประเทศไทย

นครเฉิงตู
วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ขอความดีเพิ่มพูนทวี

Longevity Prayer of H.H. 33rd Menri Trizin Rinpoche

วันนี้ (9 ตุลาคม 2555) เป็นวันที่ทางฝ่ายทิเบตจะสวดมนตร์และประกอบพิธีขอให้สมเด็จพระสังฆราชแมนรี ริมโปเชองค์ที่ 33 ลุงตก เต็มเบ ญีมา ริมโปเช (ประมุขนิกายยุงตรุงเพิน/พุทธเพิน) มีอายุยืนยาว

ขอเชิญกัลยาณมิตรและเพื่อนๆของมูลนิธิพันดาราร่วมสวดมนตร์บทขอพรนี้ (ได้แปลเป็นภาษาไทยและให้ทำนองสวดไว้ด้านล่าง)

สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระปฐมอาจารย์ของครูซกเช็นของเราคือท่านญีมา ทรักปา ริมโปเช ท่านเป็นโยคีที่แอบซ่อนเปี่ยมด้วยปรีชาญาณยิ่งใหญ่ มีขันติธรรมอันเป็นเลิศ มีจิตไม่แบ่งแยกนิกาย ท่านได้ช่วยการงานทางศาสนาของสมเด็จองค์ดาไลลามะ ท่านยังเมตตาต่อโครงการพระศานติตารามหาสถูปด้วยการสวดมนตร์อวยพรให้โครงการถึง 3 วัน 3 คืน

 

นามของท่าน “ลุงตก เต็มเบ ญีมา” แปลว่า พระอาทิตย์แห่งพระธรรมอันกอรปด้วยสัจธรรมทั้งสอง นามของท่านเตือนใจเราให้เห็นว่าสมมติสัจและปรมัตถสัจไม่แยกจากกันและเราไม่สามารถแยกการปฏิบัติธรรมออกจากชีวิต

 

บทขอพรให้สมเด็จพระสังฆราชแมนรี ทริซิน องค์ที่ 33 มีอายุยืนยาว

เอมาโฮ

รับชัม ชกจู เกียลวา เซเช จี

เชียนเซ ยีชี โงโว จิกดู บา

ซับเจ เชนเต็น เปเว ทรินเล เช็น

ลุงตบ เต็มเบ ญีมา ตักชา โช

 

ปรีชาญาณแห่งสัพพัญญูในพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งสิบทิศ

รวมเป็นหนึ่งเดียวในท่าน ผู้เปี่ยมด้วยความรักและปัญญา

ผู้ประกอบกรณียกิจในการเผยแผ่พุทธธรรมอันลึกซึ้งและกว้างไกลขององค์พระศาสดา

ขอให้พระอาจารย์ลุงตก เต็มเบ ญีมาฉายแสงตลอดไป

ดู Link นี้สำหรับทำนองสวด และสามารถสวดไปพร้อมกับพระลามะทิเบต http://www.olmoling.org/section/file/181/H.H.Longevity_Prayer_Audio.wav

Today we invite friends and students to join us in praying for His Holiness 33rd Menri Trizin Rinpoche’s long life. May the sun of teachings as in his name shine forever!

Longevity Prayer of H.H. 33rd Menri Trizin Rinpoche

E MA HO

RAB JAM CHHOK CHU GYAL WA SE CHE KYI

The omniscient wisdom of the Buddhas and Bodhisattvas of the ten directions

KHYEN TSE YESHE NGO WO CHIK DUI PAI
Is condensed into a single essence in you, Highest One

ZAB GYE SHEN TEN PEL WE THRIN LE CHEN
Possessor of the enlightened activity of the profound, expanded, increasing teachings of Tonpa Shenrab

LUNG TOG TENPAI NYIMA TAG CHHAR SHOG
We pray that you Lungtok Tenpa’i Nyima shine forever.

 

Tibetan Masters of the Major Traditions

รูปประวัติศาสตร์ พระอาจารย์ใหญ่ของทิเบต…
สมเด็จองค์ดาไลลามะประทับยืนอยู่ตรงกลาง ทางขวาของพระองค์คือสมเด็จสาเกีย ทริซิน ริมโปเช (ประมุขนิกายสาเกียปะ) และสมเด็จซูชิกริมโปเช (อดีตประมุขนิกายญิงมาปะ) ทางซ้ายของพระองค์คือสมเด็จแมนรี ทริซิน ริม

โปเช (ประมุขนิกายพุทธเพิน/ยุงตรุงเพิน) และสมเด็จองค์การ์มาปะ (ประมุขนิกายกาจูร์ปะ) พระอาจารย์อาวุโสสุดในขณะนี้คือแมนรี ริมโปเช และสาเกีย ริมโปเช สำหรับท่านสาเกีย ริมโปเช ท่านไว้ผมยาว นุ่งสบงสีขาว สัญลักษณ์ของผู้ปฏิบัติตนเป็นโยคี (ไม่ใช่พระภิกษุ) พระอาจารย์ทั้งหลายมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน มีใจเปิดกว้าง และภาวนาด้วยกันไม่ว่าท่านจะได้รับการฝึกฝนในนิกายใด

Reflection on Buttered Tea & Tibetan Wisdom

เมื่อสองปีก่อนศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเชิญฉันไปบรรยายเรื่องภูมิปัญญาทิเบตที่โยงกับชีวิตและการเมือง โดยคำว่าการเมืองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องจีน-ทิเบต แต่เป็นความขัดแย้งโดยทั่วไปในสังคมรวมไปถึงความขัดแย้งในทางศาสนาด้วย

ในช่วงท้ายเรามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จำได้ว่าเป็นการสนทนาที่สนุกมากเมื่อฉันพูดถึงเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวทิเบต คือ ชาที่ไม่ได้มีรสหวานแบบที่คนไทยเรารู้จักกัน หรือรสจืดออกขมแบบชาดำทั่วไป แต่กลับเป็นชาที่มีรสเค็ม มัน จนออกเลี่ยน ที่เราเรียกกันว่า ชาเนย เพราะมีการนำเนยมาตำกับน้ำชาต้มเดือดในกระบอกไม้ตามด้วยการเหยาะเกลือเล็กน้อยแบบที่อาจารย์เยินเต็นได้สาธิตให้ดูในเทศกาลชาอาทิตย์ที่แล้ว

ชาเนยนี้ชาวทิเบตถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยที่สุด ถ้าวันไหนพวกเขาไม่ได้ดื่มชาแบบนี้ พวกเขาจะรู้สึกชีวิตขาดอะไรไป นักศึกษาชาวทิเบตคนหนึ่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่าที่อเมริกา ทุกวันเขาจะทำชาเนยแบบนี้แล้วเทใส่กระติกน้ำร้อนหอบไปดื่มขณะท่องหนังสือแถวห้องสมุด จนเราล้อแกว่าแกเหมือน “โป้ลา” พ่อเฒ่า ใครที่เคยเดินทางไปในทิเบตและมีโอกาสได้แวะกุฏิพระหรือเยี่ยมเยียนชาวทิเบตที่บ้าน จะต้องได้ล้ิมชิมรสชามันๆเลี่ยนๆแบบนี้แน่นอน ยิ่งเนยที่เอามาตำเป็นเนยเก่า จะเห็นเนยลอยเป็นไข กลิ่นขึ้นจมูก จนต้องเอามือมาปิดปากถ้วยไว้ถ้าได้รับการเสริฟเป็นครั้งที่สอง

ในการบรรยายวันนั้นเราได้คุยกันเรื่องความสำคัญของภูมิปัญญาทิเบตต่อมนุษยชาติ ความสำคัญของจิตวิญญาณที่เน้นความรักความกรุณาอย่างไม่มีเงื่อนไข ความสุขที่เกิดจากความพึงพอใจอย่างแท้จริง ศรัทธาอันมั่นคงต่อพระพุทธศาสนาไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงไร และความอดทนอดกลั้นอันเป็นเลิศจนทั่วโลกต้องจับตาดู แม้แต่พระอาจารย์ชั้นสูงของไทยท่านหนึ่งยังเคยปรารภว่าชาวทิเบตเป็นชนชาติที่อดทนมากที่สุดในโลก

แม้ภูมิปัญญาทิเบตจะมีสิ่งที่น่ายกย่องชื่นชม แต่เราต้องแยกภูมิปัญญาออกจากประเพณีซึ่งได้รับอิทธิพลจากภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมตลอดจนความเชื่อพื้นบ้าน เหมือนกับการจะทำให้ชาทิเบตเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยในเขตเมืองร้อนแบบบ้านเรา เราจำเป็นต้องทำให้ชานี้ละลายจากไขมัน เอารสเลี่ยนออกไป และอาจต้องเอารสเค็มออกไปด้วย เหลือแต่ตัวเนื้อชาล้วนๆที่ยังคงความเป็นชาทิเบตเอาไว้ พระพุทธศาสนาวัชรยานก็เช่นกันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยเมื่อเราไม่ยึดติดที่รูปแบบประเพณี แต่ดูที่แก่นธรรมและจิตวิญญาณภายในที่มีความเป็นสากลและเป็นอกาลิโก

เมื่อเราดูที่แก่นธรรมเช่นนี้ ไม่ว่าภายนอกเราจะแต่งตัวอย่างไร จะสวมใส่ลูกประคำหรือไม่ ไม่สำคัญ และเมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะช่วยกันรักษาภูมิปัญญาของทิเบตให้ไม่หายสูญไปและจะมีส่วนช่วยให้ภูมิปัญญานี้เติบโตเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการทำความดี

ภาพประกอบ : ไม่ทราบแหล่ง แต่เพื่อนทิเบตคนหนึ่งชื่อเท็นซินเป็นผู้ส่งมาให้
Attached photo was sent to me from our friend Tenzin.