ทริปทิเบต : มนตราภิเษกมารดาตันตระ

การเดินทางครั้งใหญ่เพื่อเชื่อมโยงกับสายปฏิบัติที่สืบจากคุรุสตรีและรับมนตราภิเษกทั้งสี่ซึ่งเป็นแก่นหัวใจของพุทธตันตระและต้นกำเนิดของคำสอน “อุบายวิธีหก” Mother Tantra Trip to Tokden, Amdo & Empowerment to be bestowed by H.E. Tsulchen Thegchog Tempai Nyima Rinpoche

ทริปทิเบต : มนตราภิเษกมารดาตันตระ

วัดตกเต็น เมืองงาวา แคว้นอัมโด

เขตปกครองตนเองอาบาของชาวทิเบตและชาวเชียง มณฑลเสฉวน ประเทศจีน

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน – วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2562

มารดาตันตระ

Majud

พระยีตัม มาจุด ทุกจี ญีมา (แสงอาทิตย์แห่งความกรุณาแห่งมารดาตันตระ) หรือ พระยีตัม ซังชก เกียลโป (ราชาแห่งความลึกล้ำ) และพระฑากินี เจมา เออโซ ผู้เป็นศูนย์รวมแห่งฑากินีทั้งหลาย

มารดาตันตระ (มาจุด หรือชื่อเต็ม มาจุด ทุกจี ญีมา จุด/ คัมภีร์ตันตระ แสงอาทิตย์แห่งความกรุณาแห่งมารดาตันตระ) เป็นชื่อหนึ่งในชุดคำสอนและคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดว่าด้วยการปฏิบัติธรรมในวิถีตันตระแห่งพุทธเพิน (ยุงตรุงเพิน หรือ พระธรรมอันเป็นนิรันดร์)

การปฏิบัติตันตระเป็นหนทางการภาวนาที่ใช้ปรัชญาและอุบายวิธีในการเปลี่ยนกิเลสให้เป็นปัญญาแบ่งเป็นสี่ประเภทได้แก่ 

1. กริยาตันตระ (ชาจุด) 

2. จริยาตันตระ (เชอจุด) 

3. โยคะตันตระ (เยเชนจิจุด)  

4. อนุตตรโยคะตันตระ (เยเชนเช็มเบอจุด) 

โดยสองประเภทแรกเน้นพระยีตัมปางสันติ เป็นการชำระกายและวาจาให้บริสุทธิ์ผ่านพิธีกรรมและ การบริกรรมมนตรา ส่วนสองประเภทหลังเน้นพระยีตัมปางพิโรธโดยเน้นชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่านการทำสมาธิ

โยคะตันตระยังมีชื่อเรียกว่า บิดาตันตระ (Father Tantras) เนื่องจากสืบจากพระบิดา ทรูเช็น นังเต็น เน้นสมาธิ ‘เกริม’ ตั้งนิมิตมากกว่า ‘ซกริม’ สลายนิมิตเน้นพระยีตัมปางพิโรธหลายพระองค์ รวมทั้งพระเซคาร์ ชกงา หรือพระยีตัมห้าพระองค์ ได้แก่พระวรกาย พระวจนะ พระหทัย คุณลักษณะ และพระกรณียกิจของพระพุทธเจ้าโดยแสดงออกเป็นพระยีตัมองค์ต่างๆ ดังนี้ พระปัลเซ (พระวรกาย) พระลาเกิด (พระวจนะ) พระโซชก (พระหทัย) พระเกเกิด (คุณลักษณะ) และพระพูร์ปะ/วัชรกิลายะ (กรณียกิจ)

Zangza

อนุตตรโยคะตันตระประกอบด้วยคัมภีร์ตันตระชั้นสูงสุดโดยเฉพาะมารดาตันตระ (Mother Tantras) เนื่องจากสืบจากพระมารดายุมเช็น ซังซา ริงซุนมา คุรุสตรีผู้เป็นนิรมาณกายของพระมหามารดาเชรับ ชัมมามีชีวิตอยู่ในสมัยก่อนพุทธกาลของพระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับ คัมภีร์ตันตระประเภทนี้เน้นการทำสมาธิสลายนิมิตกลับสู่สภาวะจิตเดิมแท้และเป็นพื้นฐานของการทำสมาธิซกเช็น

ต้นกำเนิดของคำสอน

ครั้งหนึ่งในขณะที่พระมารดาซังซา ริงซุนมา และสหายธรรมท่านอื่นรวมเก้าท่านได้ทำสมาธิด้วยการดำรงอยู่ในสภาวะโดยเนื้อแท้ท่านได้รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าปางสัมโภคกายนามว่า คาจิง การ์โป หนึ่งในพระพุทธเจ้าปางสันติห้าตระกูลผู้เป็นสภาวะเดียวกับพระพุทธเจ้าแสงกระจ่าง พระองค์ปรากฏองค์แล้วแปรเปลี่ยนเป็นพระยีตัมปางพิโรธ “มาจุด ซังชก ทาทุก เกียลโป” หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระมาจุด ทรงดำรงอยู่คู่กับพระฑากินี เจมา เออโซ ศูนย์รวมแห่งพระฑากินีทั้งหลายพร้อมด้วยมณฑลศักดิ์สิทธิ์ 

จากนั้นพระยีตัมผู้มีเจ็ดพักตร์ก็สอนธรรมแด่พระมารดา ซังซา ริงซุนมา โดยทรงสอนปรัชญาพุทธะสามระดับที่เกี่ยวกับฐาน มรรค และผล

จากพระมารดา ซังซา ริงซุนมา คำสอนได้สืบผ่านกษัติรย์เกียลเช็น มิลู ซัมเล็ก เป็นภาษาสันสกฤตจากท่านได้มีการแปลเป็นภาษาชางชุงและต่อมาเป็นภาษาทิเบตและมอบต่อศิษย์มากมาย เช่น นักวิชาการทั้งสี่ นักแปลทั้งแปด มหาสิทธิ 80 ท่าน จนกระทั่งถึงพระคุรุผู้มีจิตเป็นอมตะสามพระองค์ได้แก่พระคุรุ เทรนปา นัมคา พระคุรุเซวัง รินซิน และพระคุรุ เปมา จุงเน (คุรุริมโปเช) 

คัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติพระยีตัมพระองค์นี้มาจากคุรุ เนินเซ (Guru Nontse) ผู้ค้นพบคัมภีร์นี้ในลักษณะธรรมสมบัติแอบซ่อนในศตวรรษที่ 12 โดยคัมภีร์ซ่อนอยู่ที่ที่ก้อนหินดุงพอร์ใกล้หมู่บ้านทานัก แคว้นซังแห่งทิเบตภาคกลาง

sand mandala

แก่นหัวใจของคำสอน

คำสอนว่าด้วยฐานมรรคและผลเป็นหลักการหลักของมารดาตันตระที่ว่าพุทธภาวะมีอยู่แล้วในสัตว์โลกทั้งหลายโดยมีอยู่มาแต่โบราณกาล (ฐาน) วิธีการฝึกฝนก็มิได้แยกจากสภาวะนี้จึงเป็นหนทางแห่งพุทธะ (มรรค) ที่จะนำไปสู่การบรรลุพระโพธิญาณ (ผล) ในที่สุด

นอกจากนี้คัมภีร์มารดาตันตระยังเกี่ยวข้องกับอุบายวิธีหกได้แก่โยคะลมปราณ/การแผ่ความร้อนภายใน (ตุมโม) กายมายา (จูลู) โยคะความฝัน (มิลัม) โยคะแสงกระจ่างในยามนอนหลับ (เออเซ) การเตรียมจิตสำหรับบาร์โดและการทำสมาธิโพวาซึ่งแต่ละอย่างนำเราไปสู่การตระหนักรู้ธรรมชาติของตัวตนอย่างรวดเร็ว

ความสำคัญของมนตราภิเษก

rinpoche 2

สมเด็จผู้ครองบัลลังก์องค์ที่ 13 ของวัดตกเต็น พระอาจารย์ซูเช็น เทกชก เต็มเป ญีมา ริมโปเช คุรุผู้มอบมนตราภิเษก

มนตราภิเษก (empowerment/initiation) ถือว่าเป็นประตูสู่พรหากจะปฏิบัติธรรมในสายพุทธตันตระให้ได้ดีมีความจำเป็นจะต้องได้รับมนตราภิเษกซึ่งเป็นการอนุญาตให้ปฏิบัติธรรมอย่างเป็นทางการโดยเฉพาะการปฏิบัติตันตระชั้นสูงการปฏิบัติโดยปราศจากมนตราภิเษกแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

คุณสมบัติของคุรุผู้มอบมนตราภิเษก

เป็นผู้เคยได้รับมอบคำสอนและรับมอบมนตราภิเษกพระมาจุดและได้รับการอธิบายคำสอนอย่างกระจ่างแจ้งเป็นผู้ปฏิบัติตามบทปฏิบัติได้ดีจนสามารถนำพรมามอบต่อได้รวมทั้งเป็นผู้รักษาสมยะ (ข้อผูกพัน) จากการเป็นผู้มอบมนตราภิเษกซึ่งมีเงื่อนไขว่าคุรุจะต้องกราบอัษฎางคประดิษฐ์และสวดยึดคุรุยีตัมฑากินีในคัมภีร์มารดาตันตระเป็นจำนวน 100,000 ครั้งก่อนมอบมนตราภิเษก

คุณสมบัติของศิษย์ผู้รับมอบมนตราภิเษก

receiving empowermentเป็นผู้มีศรัทธามีมุมมองที่บริสุทธิ์ต่อพระอาจารย์ผู้มอบมนตราภิเษกและสามารถรักษาสมยะจากมนตราภิเษกเช่นไม่มีข้อขัดแย้งกับพระปฐมอาจารย์สามารถสวดบูชาพระยีตัมอย่างเป็นนิจสินปฏิบัติธรรมได้อย่างต่อเนื่องฯลฯ

การเดินทางครั้งนี้

การเดินทางครั้งนี้ป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อขอรับมนตราภิเษกครั้งสำคัญที่สุดและสูงสุดของผู้ปฏิบัติธรรมตันตระในวิถีพุทธเพินซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ที่เป็นพื้นฐานและเอื้อต่อการทำสมาธิซกเช็นและเป็นการได้รับอนุญาตให้ฝึกปฏิบัติตามคำสอนในคัมภีร์มารดาตันตระโดยผู้เดินทางไปจะได้รับมนตราภิเษกทั้งสี่ประเภทคือด้านนอกด้านในลึกล้ำและยิ่งกว่าลึกล้ำ

ในการมอบมนตราภิเษกครั้งนี้สมเด็จซูเช็นเทกชกเต็มเปญีมาริมโปเชจะเป็นผู้ประกอบพิธีโดยครั้งนี้ริมโปเชประกาศว่าจะเป็นการมอบมนตราภิเษกมารดาตันตระครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่านด้วยเห็นความสำคัญนี้ต่อศิษย์ของท่านท่านจึงได้แจ้งให้ครูทั้งสองได้รับทราบเราจึงขอพาคณะลูกศิษย์จากเมืองไทยที่ได้ฝึกเงินโดรและมีศรัทธาต่อพระธรรมคำสอนที่ครูทั้งสองได้ถ่ายทอดและมีศรัทธาต่อริมโปเชให้ร่วมเดินทางไปด้วย 

เนื่องจากการเดินทางไปรับมนตราภิเษกไม่ใช่สิ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายแต่ต้องมีองค์ประกอบต่างๆเหมาะสมเช่นผู้เดินทางจะต้องมีเวลามีทุนค่าเดินทางและสามารถร่วมทำบุญได้อย่างไม่ตระหนี่เกิดความซาบซึ้งใจในคำสอนเข้าใจความหมายของมนตราภิเษกมีสุขภาพแข็งแรงไม่แพ้ความสูงเป็นคนอยู่ง่ายกินง่ายและไม่เป็นภาระต่อผู้อื่นหากได้เดินทางไปขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปได้ให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติธรรมและเชื่อมโยงกับพระยีตัมให้มากที่สุดในระหว่างการเดินทางครั้งนี้

ประกาศจากวัดตกเต็น

การประกอบพิธีมนตราภิเษกทั้งสี่แห่งพระยีตัม มาจุด ทุกจี ญีมา

ปีนี้สมเด็จผู้ครองบัลลังก์องค์ที่ 13 แห่งวัดตกเต็น พระอาจารย์ซูเช็น เทกชก เต็มเป ญีมา ริมโปเช จะประกอบพิธีมนตราภิเษกทั้งสี่ (วังฉี) แห่งพระยีตัม ทุกจี ญีมา (แสงอาทิตย์แห่งความกรุณา) แห่งคัมภีร์มาจุดหรือมารดาตันตระให้แก่ผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาและสมยะ

กำหนดการ

วันที่ 23-29 กันยายน 2562

วันที่ 23 

ช่วงเช้า เริ่มทำพิธี สวดมนต์

ช่วงบ่าย (เวลา 14.00 น.) เตรียมพิธีมนตราภิเษกทั้งสี่

วันที่ 24 – 26 (3 วัน)

คณะพระภิกษุประกอบพิธีถึงพระยีตัม มาจุด ทุกจี ญีมา ไปตามลำดับแล้วจบด้วยการประกอบพิธีบูชาไฟ (ชินเซก) 

วันที่ 27-29 (3 วัน)

การเปิดพุทธมณฑลพระยีตัม มาจุด และมอบพิธีมนตราภิเษกทั้งสี่ให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี

ผู้รับผิดชอบหลัก

พระอาจารย์ตงเลอ ลุงตก เต็มปา รับเกียล

ผู้ประสานงานหลักในการดูแลคณะนักบวชชาย-หญิงและผู้ร่วมพิธี

พระอาจารย์ ญักทุล โซนัม เกียมโซ

ข้อควรปฏิบัติ

ในระหว่างเจ็ดวันนี้ ผู้มารับมนตราภิเษกควรงดเนื้อสัตว์ สุรา/เบียร์และเครื่องดื่มมึนเมา กระเทียม และบุหรี่ 

Photos : Nyagtul Sonam Gyamtso Rinpoche, Tokden Monastery

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.