Category Archives: Krisadawan's Talks

จิตในความฝันและความตาย

การปฏิบัติเกี่ยวกับความฝันได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในพระพุทธศาสนาวัชรยานโดยเฉพาะในนิกายที่มีคำสอนว่าด้วย “อุบายวิธีหก” (ทับทรุก)

Continue reading

Talk on Tibetan Wisdom & Modern World at Mahidol University

8 มกราคม 2556

บรรยายเรื่อง “ภูมิปัญญาบรรพกาลกับจิตวิญญาณร่วมสมัย : พุทธทิเบต

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

Kris and Aj

photo-5

ให้การเรียนรู้เป็นกระบวนการ เป็นโอกาส นำเราไปสู่ปัญญาภายใน อย่าเพียงยินดีกับสิ่งที่เป็นความรู้ภายนอก ความรู้ฉาบฉวย แต่นำสิ่งที่ได้ฟัง อ่าน ดู มาใคร่ครวญ มาภาวนาจนความรู้กลายเป็นประสบการณ์ชีวิต หมั่นทำจิตให้นิ่ง ใส เพราะภายในความสงบนิ่งเท่านั้นที่ความรู้ตกผลึกและประสบการณ์แปรเปลี่ยนเป็นปัญญา อันจะนำเราไปสู่ขุมทรัพย์ใต้ท้องมหาสมุทรซึ่งมีอยู่แล้วในจิตของเราเอง นำเราไปสู่ความเบิกบาน ความกรุณาและคุณสมบัติอันประเสริฐมากมาย ความรู้ที่ขาดการภาวนาอาจทำให้เราเป็นนักวิชาการ เป็นบัณฑิตผู้ได้รับปริญญา แต่ไม่ทำให้เราเป็นปราชญ์ผู้รู้จักจิตใจและตัวตนของตัวเอง

photo-3

ที่ระลึกจากการบรรยายที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา 8 มกราคม 2556

เมื่อเนยเป็นเหตุ : เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

ชายคนหนึ่งมีนามว่า “รับเกียล” เป็นนักธุรกิจใหญ่ของทิเบต เขาทำธุรกิจขายเนยและผลิตผลจากจามรี เวลานำเนยไปขาย ก็เดินทางเป็นกองคาราวาน

เมื่อหลายปีก่อน รับเกียลเช่ารถหลายสิบคันนำเนยไปขายจากบ้านเกิดที่เมืองฮงหยวนในภาคตะวันออก มุ่งหน้าสู่นครลาซา เมื่อไปถึง ปรากฏว่าราคาเนยตกต่ำมาก เขาก็เฝ้ารอลุ้นให้ราคาสูงขึ้น ยิ่งรอ ราคาก็ยิ่งตก ถ้าขาย ก็มีแต่จะขาดทุน ยิ่งเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายของกองคาราวานแล้ว ก็ดูเหมือนว่าเขาจะสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว

เช้าวันนั้น เขาไปกราบพระโจโว ริมโปเช (พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวทิเบต) ที่วัดโจคัง จิตใจเขาเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ขณะเข้าแถวเพื่อรอไปนมัสการองค์พระ เขาเห็นผู้มากราบพระคนแล้วคนเล่านำเนยไปเทถวายที่ตะเกียงเนย

ฉับพลัน เขาคิดขึ้นมาได้ว่า เขาควรจะนำเนยที่ขายไม่ได้มาถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อคิดแล้ว เขาเกิดปีติยินดี เกิดความหวังว่ามาลาซาคราวนี้ ไม่สูญเปล่า เขาจะได้ทำบุญกุศลครั้งใหญ่ เขาโทรศัพท์เรียกลูกน้องให้เอาเนยมาที่วัด รถบรรทุกหลายสิบคันขนเนยกองโตมาจอดไว้หน้าวัด

แล้วรับเกีบลก็ถวายเนยทั้งหมดต่อเบื้องพระพักตร์ของพระโจโว ริมโปเชท่ามกลางความอัศจรรย์ใจของผู้มีจิตศรัทธาที่มากราบพระองค์

จากนั้น เขาเดินทางกลับบ้านเกิดโดยมีเงินติดตัวเป็นค่าเดินทางเพียงเล็กน้อย ไม่มีเงินทำธุรกิจต่อ ไม่มีเงินก้นถุงให้แก่ครอบครัว

สองสามเดือนหลังจากนั้น เพื่อนคนหนึ่งชวนเขาไปทำงานที่นครเฉิงตู ไปเป็นยามเฝ้าประตู ทั้งวันเขายืนเหมือนหุ่นยนต์อยู่หน้าประตูบริษัท เขาทำอยู่อย่างนั้นสามปี ในระหว่างที่อยู่ที่เฉิงตู เขาเห็นว่าคนทิเบตมาทำธุรกิจและมาเรียนหนังสืออยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก พวกเขาล้วนแต่โหยหาอาหารทิเบต แต่ยังไม่มีร้านอาหารไหนที่ทำอาหารทิเบตแล้วได้อร่อยเหมือนกับแม่ที่บ้านทำ เขาลาออกจากการเป็นยาม แล้วเรียกลูกสาวลูกชายมาอยู่เฉิงตู เอาเงินเก็นทั้งหมดมาลงทุนเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวทิเบต “ทุกปะ” ทำด้วยหัวใจเหมือนแม่ทำทุกปะให้ลูกกิน รับเกียลสอนลูกๆให้ดูแลลูกค้าด้วยความเอาใจใส่และด้วยความสุภาพอ่อนโยน พวกนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างติดใจทุกปะของรับเกียล จนร้านเล็กๆที่เป็นกิจการครอบครัวใหญ่โตได้เปิดอีกหลายสาขา ตอนนี้ร้านของรับเกียลกลายเป็นร้านอาหารทิเบตที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งในเฉิงตู

เรื่องราวของรับเกียลสอนเราให้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นบุญกุศล เปลี่ยนจิตใจโศกเศร้าท้อแท้ ให้กลายเป็นจิตยิ่งใหญ่ที่พร้อมจะทำบุญกุศล แต่ทำบุญแล้วก็ต้องทำงานอย่างวิริยะอุตสาหะด้วย แม้รับเกียลจะขาดทุนจากการทำธุรกิจในการขายเนย แต่เขาไม่ขาดทุนในการทำบุญ ในขณะทำบุญเขามีจิตที่บริสุทธิ์ เลิกคิดเรื่องกำไรขาดทุน แต่คิดจะทำกุศล เขาก็ได้รับผลดีจากการคิดด้วยจิตบริสุทธิ์เช่นนั้น เรื่องของรับเกียลได้กลายเป็นตำนานที่ได้รับการขานต่อในหมู่ชาวทิเบต โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาที่ชอบไปกินทุกปะที่ร้านของเขาแล้วนั่งคุยกับเขาเพื่อขอแรงบันดาลใจในชีวิต

กฎแห่งกรรม

เรื่องกฎแห่งกรรมที่พี่ชายท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง

หลายปีก่อน เพื่อนคนหนึ่งของพี่คนนี้ชอบล่าสัตว์ เขาล่าด้วยความคึกคะนอง แล้วนำสัตว์ที่ล่ามาอวดกัน คราวใดที่ได้สัตว์ดุร้าย เช่น งูจงอาง ก็จะนำมาเล่าด้วยความภาคภูมิใจ ในการล่าสัตว์ พวกเขามักจะไปกันตอนกลางคืน การล่าสัตว์จะเน้นส่องสัตว์โดยดูจากดวงตาของมันซึ่งเหมือนดวงไฟสีแดง

คืนหนึ่ง เพื่อนของพี่กับเพื่อนของเขาไปกันสองคันรถ พวกเขาแบ่งโซนล่าสัตว์ เขากับเพื่อนกลุ่มหนึ่งแยกเข้าป่าไป พวกเขาขับรถวนไปวนมาก็ยังหาสัตว์ไม่ได้ รถของเพื่อนพวกเขาอีกคันจอดพักโดยที่คนขับจุดไฟเพื่อสูบบุหรี่ รถของเพื่อนพี่เห็นประกายไฟ ดีใจคิดว่าเป็นดวงตาของเสือ พวกเขารีบยิงไปทันที ปรากฏว่าพวกเขาได้สังหารเพื่อนของพวกเขาเอง ในรถคันนั้น คนหนึ่งตายทันที อีกคนถูกยิงเข้าแก้ม ทะลุกราม โชคดีว่าผู้ถูกยิงเพิ่งไปถอนฟันมา ทำให้กระดูกฟันไม่แตก และกระสุนทะลุไปที่แก้มอีกด้านหนึ่ง คนนี้ไม่ตาย แต่บาดเจ็บ ส่วนเพื่อนอีก 2 คนในรถพยายามขับรถออกจากป่า แต่ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร พวกเขาก็หลงป่าถึงสองวัน ในช่วงนั้น พวกเขาต้องอยู่กับศพผู้ตายเหมือนกับอยู่กับเหยื่อที่พวกเขาเคยล่ามา

หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ถูกยิงทะลุแก้มตั้งปฏิญาณที่จะไม่ฆ่าสัตว์อีกต่อไป ทุกวันนี้เขาก็ยังดำรงชีวิตอยู่ แต่น้องชายของเขาไม่เชื่อเรื่องบาปกรรม ยังคงชอบล่าสัตว์อยู่ หลังจากนั้นไม่นาน น้องชายเขาถูกจับเป็นตัวประกันและถูกยิงทิ้ง

บาปกรรมมีจริงโดยเฉพาะถ้าฆ่าสัตว์โดยมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 องค์ประกอบ: มีเจตนาที่จะฆ่า มีสัตว์ที่ต้องการฆ่า มีการฆ่า และมีผลของการกระทำ คือ สัตว์นั้น ตาย บางครั้ง กรรมดี กรรมชั่ว ไม่ได้ให้ผลเร็ว เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในอดีตชาติด้วย แต่ถ้าเป็นกรรมดีมากๆหรือกรรมชั่วมากๆ ผลมักจะเกิดขึ้นทันตาเห็น

สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าตัวมันจะเล็กเพียงใดล้วนแต่รักชีวิต ปรารถนาความสุขและไม่ต้องการความทุกข์ การฆ่าสัตว์จะทำให้เราเป็นคนเจ็บป่วยและมีอายุสั้น ในวาระสุดท้ายของชีวิต จิตของเราจะระทมทุกข์ด้วยความสำนึกผิด

On Tibetan Buddhism

การปฏิบัติในสายยุงตรุงเพิน (Yungdrung Bon) และญิงมาปะ (Nyingmapa) แบ่งเป็น 3 แบบคือ แบบพระสูตร (Sutra) ตันตระ (Tantra) และซกเช็น (Dzogchen)

แบบพระสูตรเน้นการสะสมบุญบารมี ค่อยๆปฏิบัติธรรมจนกว่าจะเข้าถึงพระนิพพาน หัวใจหลักของสายนี้การสละโลก (renunciation path)

แบบตันตระและซกเช็นจะเน้นการเข้าถึงโดยฉับพลัน โดยตันตระ เป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าจากภายใน เน้นการเปลี่ยนสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์ เปลี่ยนโลก (transformation path) และซกเช็นเป็นการปฏิบัติที่เข้าถึงภาวะจิตกระจ่างโดยตรง เป็นวิถีแบบการปล่อยให้ทุกอย่างสลายไปด้วยตัวเอง (self libaration path)

ในสายซกเช็น ปัจจัยสำคัญในการตรัสรู้ธรรม ได้แก่
1. การได้รับพรจากครู ปราศจากครูโอกาสที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้มีน้อยมาก
ข้อนี้เป็นเรื่องแรกที่จะต้องทำความเข้าใจว่า พรของพระพุทธเจ้า พระมหาโพธิสัตว์ ครู มีอยู่จริง แม้ว่าเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เหมือนลมที่มีอยู่หนทุกแห่งแต่เราไม่สามารถจับต้องได้
2. บุญบารมีที่สั่งสมมาในอดีตชาติจนถึงปัจจุบัน
3. การเข้าถึงภาวะดั้งเดิมของจิตตนเอง โดยไม่มีการปรุงแต่ง

เรียบเรียงจากคำสอนของกุนเทรอ เมินเกียล ลาเซ ริมโปเช

Six Ways to Meditate on Impermanence

ที่ระลึกจากการบรรยายในวันที่ 18 มกราคม 2553

หกวิธีในการภาวนาถึงความเป็นอนิจจัง

ในคัมภีร์เรื่อง มหาสมุทรแห่งพระวัจนะ (กาลุง เกียมโซ) พระอาจารย์ชาซา ริมโปเชอธิบายเรื่องวิธีการภาวนาถึงความเป็นอนิจจัง สรุปได้ย่อๆ ดังนี้

1. การภาวนาถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและจักรวาล

โลกอาจจะดูแข็ง ทนทาน แต่เปลี่ยนทุกๆวินาที เมื่อพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในแต่ละภัทรกัลป์ (กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้า) ได้เสด็จมาแล้ว จะเกิดไฟประลัยกัลป์ 7 ครั้ง ตามด้วยน้ำท่วมโลก เป็นเช่นนี้อยู่ 7 ครั้ง กัลป์ที่เราอาศัยอยู่นี้ พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว 8 พระองค์ จะยังคงมีพระพุทธเจ้าอีก 1,014 พระองค์ ที่จะเสด็จมาโปรดสัตว์ ดูเหมือนว่าโลกจะไม่สลายในปี 2012 เหมือนที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งบอกเรา

เมื่อเข้าใจประเด็นนี้อย่างถ่องแท้ นั่งสมาธิพินิจความไม่เที่ยงของโลกกับจักรวาล พินิจว่าตัวเราเป็นเพียงเถ้าธุลีที่น้อยนิด ไฉนเราถึงคิดว่าตัวตนของเรายิ่งใหญ่ ไฉนเราจึงยึดติดกับวัตถุภายนอกที่ล้วนแต่อยู่ในบ่วงของความเป็นอนิจจังทั้งนั้น

2. การภาวนาถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพชีวิต

ก่อนโลกสลาย สัตว์ต่างๆจะประสบกับหายนะครั้งสำคัญ 3 แบบ คือ โรคระบาด (จะมีโรคต่างๆเกิดขึ้น 400 กว่าโรค) ความอดหยาก 3 ครั้ง และการทำลายล้างในชั่วพริบตา

ความอดหยากครั้งที่ 1 มนุษย์จะไม่มีอาหารกิน สัตว์ต่างๆก็ถูกฆ่าเป็นอาหารไปจนหมด ต้องเอาเปลือกธัญพืิชต้มน้ำกิน เมื่อเปลือกธัญพืชหมด ต้องเอากระดูกบรรพบุรุษในสุสานมาต้มกิน เมื่อหมด มนุษย์ก็ต้องฆ่ากันเอง ในตอนนั้นไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกหรือญาติพี่น้องอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจประเด็นนี้แล้ว นั่งสมาธิพินิจความไม่เที่ยงของสรรพชีวิต ตัวเราเองก็อยู่ในวงจรของความไม่เที่ยงนี้ นึกภาพเราและเพื่อนพ้องสัตว์โลกที่หิวโหย มีเพียงการปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เราไม่ต้องเผชิญกับหายนะ เมื่อบรรลุธรรม เราก็อยู่นอกเหนือการเปลี่ยนแปลงของสังสารวัฏ

3. การภาวนาถึงการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ในมหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ฝ่ายพุทธเพิน กล่าวไว้ว่า แม้แต่พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ต่างก็ดับขันธุ์ (แสดงธรรมเรื่องความเป็นอนิจจัง) นับประสาอะไรกับเด็กทารก

ในสมัยหนึ่ง มีพระอาจารย์ผู้หนึ่งชื่อเชียน เช็มโป ริมโปเช ศิษย์ของท่านบอกท่านว่า ขอตายแทนท่าน ท่านบอกว่า ครูไม่สามารถตายแทนศิษย์ได้ ศิษย์ก็ไม่สามารถตายแทนครูได้ ท่านไม่กลัวตาย เพราะกายเนื้อไม่เที่ยง แต่จิตภายในที่ปฏิบัติดีแล้วเป็นอมตะ

ในฝ่ายทิเบตเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมก่อน แล้วจึงเสด็จมาโปรดสัตว์ ตรัสรู้ธรรมให้เห็น ละสังขารให้เห็นเรื่องความเป็นอนิจจัง

พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ พระอาจารย์ทั้งหลายต่างดับขันธุ์ทั้งสิ้น ขอให้เราตระหนักถึงประเด็นนี้เพื่อไม่ยึดติดในสังสารวัฏ ไม่เศร้าเสียใจเมื่อความไม่เที่ยงเกิดขึ้น

4. การภาวนาถึงการเกิดและตายของสัตว์โลก

ทุกๆวินาที มีการเกิด การตายเกิดขึ้น บุคคลที่ย่ิงใหญ่ในประวัติศาสตร์ต่างตายจากไป ชี้ให้เห็นกฎเรื่องความไม่เที่ยง ญาติพี่น้องของเราหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงต่างก็ตายจากไป ตัวเราเองก็ไม่ละเว้น เมื่อถึงเวลา เราก็ต้องตายจากไปเช่นนี้

นั่งสมาธิถึงบุคคลในครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยงที่ตายจากไป ตระหนักให้เข้าใจเรื่องความเป็นอนิจจังที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องประสบ

5. การภาวนาถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติ

ฤดูกาลที่ผันเปลี่ยน พระอาทิตย์ พระจันทร์ ภูเขา สายน้ำ ล้วนแต่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งิสิ้น ในแต่ละฤดู นอกจากจะมีความแตกต่างเรื่องภูมิอากาศ ยังมีความแตกต่างเรื่องต้นไม้ใบหญ้า ผิวดิน จิตใจของผู้คน ให้นึกถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในชีวิตประจำวันของเรา แล้วตระหนักถึงความเป็นอนิจจัง

6. การภาวนาถึงความตาย

ไม่มีสิ่งใดอยู่เป็นนิรันดร์ สัตว์โลกทั้งหลายล้วนแต่ต้องเผชิญความตายด้วยกันทั้งนั้น การพินิจถึงความตายจึงเป็นประเด็นใหญ่ของการดำรงชีวิตอยู่และการเตือนตัวเองให้นึกถึงหลักเรื่องความเป็นอนิจจังอยู่ตลอด

Impermanence for Contemplative Education

บางคนตายขณะอยู่ในครรภ์ บางคนตายขณะที่กำลังเกิด
บางคนตายขณะกำลังคลาน บางคนตายขณะกำลังหัดเดิน
บางคนตายเมื่อแก่ชรา บางคนตายเมื่ออายุยังน้อย
บางคนตายในช่วงเจริญรุ่งเรืองของชีวิต บางคนตายเหมือนผลไม้สุกงอมร่วงหล่นลง
จะอย่างไรก็ตาม คนแล้วคนเล่าต่างก็ต้องจากไป
เตชุง ริมโปเช

ที่ระลึกจากการบรรยายเรื่องความเป็นอนิจจังที่ศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล

18 มกราคม 2553

การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาโทด้านจิตตปัญญาซึ่งเป็นการศึกษาในรูปแบบใหม่เพื่อทำเข้าใจความจริงด้วยการภาวนาและตระหนักใคร่ครวญ

อนิจจังกับการปฏิบัติเงินโดร

ความเป็นอนิจจังหรือความไม่เที่ยงเป็นแก่นของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นนิกายใด

ในพุทธทิเบต อนิจจังเป็นหนึ่งในสี่ประเด็นที่พุทธศาสนิกชนจะต้องใคร่ครวญก่อนจะศึกษาเรื่องอื่น อีกสามประเด็นได้แก่ ร่างมนุษย์อันประเสริฐ (มิลูริมโปเช) กฎแห่งกรรม และความทุกข์

ในการพิจารณาให้ตกผลึก ผู้ปฏิบัติจะนั่งสมาธิ ประเด็นละ 7 วัน เมื่อเข้าใจแต่ละประเด็นอย่างถ่องแท้ แล้วจึงปฏิบัติอีก 5 อย่าง ได้แก่ การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ การสวดยึดพระรัตนตรัย การสวดบ่มเพาะโพธิจิต การสวดถวายมัณฑลา และการสวดสลายบาปกรรม อย่างละ 100,000 ครั้ง

การพิจารณา 4 หัวข้อ และการปฏิบัติพิเศษอีก 5 อย่างนี้รวมเรียกว่า เงินโดร ซึ่งเป็นการปฏิบัติเบื้องต้น มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนจิตใจของผู้ฝึกปฏิบัติให้มีความอ่อนน้อม มีศรัทธาอย่างไม่สั่นคลอนในพระรัตนตรัย มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย และไม่ให้มีความยึดติดในสังสารวัฏ

เงินโดรยังเป็นการสั่งสมบุญบารมีก่อนการนั่งสมาธิชั้นสูง แม้ว่าจะเรียกว่า เบื้องต้น เงินโดรเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม หากไม่ทำเงินโดร ก็เปรียบเสมือนเราส่องกระจกที่ไม่ได้รับการเช็ดถูให้ใสกระจ่าง